ลูกติดมือถือ

“ลูกติดมือถือ” น่าจะเป็นหนึ่งในปัญหาน่าปวดหัวของแทบทุกครอบครัวทั่วโลกเลยนะคะ เพราะปฏิเสธไม่ได้จริงๆ ว่าเรามีโทรศัพท์มือถือเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันจนกลายเป็นปัจจัยสำคัญอย่างที่ 5 ไปแล้ว จึงไม่แปลกหากเด็กๆ จะคุ้นเคยกับอุปกรณ์สื่อสารดิจิทัลชนิดนี้เรียกว่าตั้งแต่เขาลืมตาดูโลกก็ว่าได้ และความคุ้นเคยนี้เองที่อาจจะสร้างความเสี่ยงให้ลูกติดมือถือค่ะ ซึ่งแน่นอนว่าพฤติกรรมติดมือถือของเจ้าตัวเล็กได้ส่งผลกระทบต่อพัฒนาการและการเรียนรู้ของเขาด้วย ทำให้นี่คืออีกหนึ่งปัญหาโลกแตกที่คุณพ่อคุณแม่ควรต้องรีบหาทางแก้ไขและปรับพฤติกรรมลูกโดยด่วน ก่อนที่จะสายเกินไปนะคะ แต่จะมีวิธีการอย่างไรบ้างต้องตามมาดูกันค่ะ  

พฤติกรรมแบบไหนบอกได้ว่าลูกติดมือถือ

การใช้โทรศัพท์มือถือหรือสมาร์ทโฟนของเด็กๆ อาจไม่ใช่เรื่องผิดปกตินะคะ แต่การที่ให้เจ้าตัวเล็กใช้งานมากเกินไปจนอาจเข้าข่าย “ติด” จนถึงจุดที่อาจเป็นปัญหาได้ โดยคุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตพฤติกรรมของลูกได้ดังต่อไปนี้ค่ะ

  • ลูกใช้เวลาอยู่กับโทรศัพท์มือถือหรืออินเทอร์เน็ตมากเกินกว่า 2 ชั่วโมงในแต่ละวัน
  • ลูกจดจ่อหรือหมกมุ่นอยู่กับการใช้อินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์มือถือจนเกิดผลกระทบต่อการเรียนรู้ ทำกิจกรรม หรือดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น กินอาหารและเข้านอนไม่เป็นเวลา จะทำอะไรต้องต่อรองแลกเปลี่ยนกับการใช้มือถือตลอด ผัดวันประกันพรุ่ง เป็นต้น
  • ลูกไม่สามารถลดหรือเลิกพฤติกรรมการติดมือถือได้ถึงแม้ว่าคุณพ่อคุณแม่จะอธิบายและชี้ให้เห็นผลกระทบของการใช้งานมือถือนานหรือมากเกินไปจนลูกรู้และเข้าใจแล้วก็ตาม

ผลกระทบจากพฤติกรรมติดมือถือของลูก

โดยปกติแล้วกุมารแพทย์ และผู้เชี่ยวชาญทางด้านจิตวิทยาและพฤติกรรมเด็กมักให้คำแนะนำคุณพ่อคุณแม่อยู่แล้วว่า หากลูกมีอายุน้อยกว่า 2 ขวบ ต้องไม่ให้ใช้โทรศัพท์มือถือหรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เลย แม้แต่โทรทัศน์ก็ไม่ควรให้ดู แต่เมื่อเขาโตขึ้นแน่นอนว่าคงไม่สามารถแยกลูกออกจากมือถืออย่างเด็ดขาดได้ แต่ควรจำกัดเวลาการใช้งานของลูกว่าในแต่ละวันให้ไม่ควรเกิน 2 ชั่วโมง และคุณพ่อคุณแม่ต้องดูแลอย่างใกล้ชิด เพราะหากปล่อยปละละเลยจนลูกติดมือถือเขาอาจต้องเผชิญกับผลกระทบหลายด้านดังนี้

😟 พัฒนาการทางร่างกายที่ด้อยลง การที่ลูกนั่งจมอยู่กับการใช้โทรศัพท์มือถือเป็นเวลานานทำให้ไม่ได้พัฒนากล้ามเนื้อมัดใหญ่จากการลุกเดิน กระโดดโลดเต้น หรือวิ่งเล่น ทั้งยังอาจมีผลทำให้กล้ามเนื้อมือลูกบกพร่องได้ เนื่องจากเด็กเล็กเป็นวัยที่กล้ามเนื้อมัดเล็กกำลังถูกพัฒนา เขาจึงควรได้ฝึกใช้งานมือด้วยกิจกรรมพัฒนากล้ามเนื้อมือ เช่น การจับดินสอเพื่อขีดเขียน หรือการปั้น

😟 ความเสี่ยงในการเป็นเด็กออทิสติก การปล่อยให้ลูกอยู่กับสื่อที่เป็น One way communication อย่างโทรศัพท์มือถือหรือทีวีมากเกินไป มีโอกาสสูงมากนะคะที่เขาจะเสี่ยงมีอาการออทิสติกเทียม อันเป็นภาวะที่เด็กขาดการกระตุ้นด้านการสื่อสาร ซึ่งมีผลต่อการเข้าสังคมและพัฒนาการโดยรวมของลูก เนื่องจากเมื่อเขาใช้มือถือมากๆ จะทำให้ขาดปฏิสัมพันธ์กับคุณพ่อคุณแม่และคนรอบข้างนั่นเอง นอกจากนี้การสื่อสารทางเดียวที่เด็กๆ ได้รับจากการใช้โทรศัพท์มือถือจะทำให้ทักษะทางภาษาแย่ลง เพราะไม่ได้ฝึกฝนทักษะด้านภาษาและการเข้าสังคมมากเท่าที่ควร

😟 ความเสี่ยงต่อพัฒนาการทางอารมณ์ การที่ลูกติดโทรศัพท์มือถือมากๆ จะเพิ่มความเสี่ยงต่อปัญหาด้านพัฒนาการทางอารมณ์ เนื่องจากความเร็วของภาพในมือถือที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วส่งผลโดยตรงต่อสมองให้ทำงานไม่ปกติ เด็กจะไม่สามารถควบคุมสมาธิได้ กลายเป็นเด็กขี้โมโห อารมณ์ร้อน ไม่มีสมาธิ รอคอยไม่เป็น ส่งผลกระทบไปถึงทักษะการอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ค่ะ

วิธีปรับพฤติกรรมให้ลูกใช้มือถืออย่างพอดี และมีประโยชน์ 

  1. สิ่งสำคัญที่สุดอันดับแรกของการเลี้ยงลูกวัยเลียนแบบก็คือ การเป็นแบบอย่างที่ดี (Role Model) ให้เขาค่ะ ถ้าภาพที่ลูกเห็นจนชินตาคือการที่คุณพ่อคุณแม่นั่งกดๆ จิ้มๆ สไลด์มือถือไปมาตลอดทั้งวัน ความหวังให้ลูกไกลจากพฤติกรรมติดมือถือเป็นอันพังทลายลงแน่นอนค่ะ ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ต้องปรับที่ตัวเองก่อนนะคะ
  2. เมื่อเทคโนโลยีมีผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ วิธีที่ดีที่สุดคือ ตั้งรับให้ดีค่ะ ทุกบ้านควรมีกฎเหล็กสำหรับการใช้งานโทรศัพท์มือถือที่แน่นอนและบังคับใช้อย่างจริงจัง เริ่มจาก… ลูกต้องรู้ว่ามือถือไม่ใช่ของส่วนตัวของเขา แต่เป็นสิ่งที่เขายืมจากคุณพ่อคุณแม่มาใช้เป็นครั้งคราวเท่านั้น และเขาสามารถใช้งานได้ไม่เกิน 2 ชั่วโมงต่อวัน อาจจะแบ่งให้เล่นได้ครั้งละ 1 ชั่วโมง วันละ 2 ครั้ง ก็ได้ค่ะ และการเล่นทุกครั้งต้องอยู่ภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิดของคุณพ่อคุณแม่ เพื่อจะได้สอดส่องดูแลการใช้งานของลูกได้อย่างเหมาะสมและปลอดภัยนะคะ ซึ่งการมีกติกาเป็นตัวกำหนดจะทำให้เจ้าตัวเล็กรู้ขอบเขตของตัวเองว่าเขาสามารถใช้งานได้มากน้อยแค่ไหน และมีวินัยในการใช้งานด้วยค่ะ
  3. เติมความสนุกให้ทุกวันของลูกด้วยกิจกรรมสร้างสรรค์อื่นๆ แทนการขลุกอยู่กับหน้าจอมือถือ เช่น ชวนกันไปการออกกำลังกาย ว่ายน้ำ วิ่งเล่นในสวน สำรวจธรรมชาติรอบตัว วาดภาพ ทำอาหาร ฯลฯ โดยคุณพ่อคุณแม่อย่าลืมสังเกตด้วยนะคะว่าเจ้าตัวเล็กชอบหรือสนใจกิจกรรมใดเป็นพิเศษจะได้ส่งเสริมได้ถูกต้องและเหมาะสมค่ะ อย่าใช้วิธีบังคับให้ลูกทำนะคะเพราะแทนที่จะได้รอยยิ้มและเสียงหัวเราะของลูก อาจกลายเป็นได้รับการต่อต้านกลับมาก็ได้ค่ะ ดังนั้น ต้องทำให้ลูกรู้สึกว่าการอยู่ใกล้ชิดและทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกันกับคุณพ่อคุณแม่มีแต่เรื่องสนุกและมีความสุขมากกว่าการอยู่กับมือถือค่ะ และระหว่างทำกิจกรรมคุณพ่อคุณแม่ก็ห้ามแตะมือถือเลยนะคะ ใช้เวลาคุณภาพกับลูกให้คุ้มค่ารับรองว่าดีแน่นอนค่ะ
  4. คุณพ่อคุณแม่ต้องใจแกร่งและหนักแน่นค่ะ ต่อให้เจ้าตัวเล็กจะเกาะแข้งเกาะขา อ้อนวอน หรือกรีดร้องเพื่อให้ได้ใช้โทรศัพท์มือถือก็ตาม จะใจอ่อนยอมให้เล่นหรือตัดรำคาญไม่ได้เด็ดขาด เพราะเมื่อคุณพ่อคุณแม่ขาดความหนักแน่น ลูกก็จะไม่เคารพกติกาที่ตั้งไว้ ทำให้การดึงเด็กๆ ออกจากปัญหาติดมือถือก็ไร้ผลค่ะ และไม่ใช่แค่ใจแข็งกับลูกนะคะ ต้องใจแข็งกับความต้องการของตัวเองด้วย เพราะยอมรับเถอะค่ะว่าบางทีคุณพ่อคุณแม่นี่แหละที่ติดมือถือหนักมาก ดังนั้น หนักแน่นเข้าไว้ค่ะ

การใช้งานโทรศัพท์มือถือไม่ใช่เป็นเรื่องเชิงลบไปทั้งหมดนะคะ เพราะบางฟังก์ชันก็สามารถเสริมสร้างความรู้และพัฒนาการให้ลูกได้เช่นกัน แต่การใช้งานนั้นต้องอยู่ภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิดของคุณพ่อคุณแม่ และเป็นไปตามกรอบเวลาที่สมควรแก่ช่วงวัยของลูกด้วย ซึ่งหากเกิดปัญหาและต้องการดึงลูกออกจากมือถือ ในช่วงแรกคุณพ่อคุณแม่อาจต้องเผชิญการต่อต้านอยู่บ้าง ต้องใจเย็นและพยายามอธิบายให้ลูกเข้าใจด้วยเหตุผล อย่าใช้อารมณ์หรือการลงโทษนะคะ ค่อยๆ ปรับพฤติกรรมกันไป หากิจกรรมใหม่ๆ ทำกันบ้างเพื่อเสริมสร้างพัฒนาการตามวัย และมอบกำลังใจให้สิ่งที่ลูกทำแค่นี้ลูกก็แฮปปี้แล้วค่ะ


🌐 babyswimmingthailand.com

✨มาร่วมมอบของขวัญล้ำค่าที่จะติดตัวลูกของคุณไปตลอดชีวิตกับ BABY SWIMMING โรงเรียนสอนว่ายน้ำเด็กแห่งเดียวในประเทศไทยที่ได้รับการรับรองมาตรฐานคุณภาพ ISO 9001 และได้รับความไว้วางใจจากโรงพยาบาลชั้นนำ 🇹🇭💯🏆🎉😊🙏🏻✨

✨”BABY SWIMMING, A Precious Gift for Your Kids” 🐳 🏊🏻 💦 💙 🎁 ✨

#babyswimming #สอนว่ายน้ำเด็ก #เรียนว่ายน้ำเด็ก #สระว่ายน้ำเด็ก #โรงเรียนสอนว่ายน้ำเด็ก #สระน้ำอุ่น #สระในร่ม

Share this