คุณพ่อคุณแม่เคยเกิดความสงสัยเช่นนี้มั้ยคะ “ไม่รู้ลูกจะชอบเรียนว่ายน้ำมั้ย? ถ้าสมัครเรียนว่ายน้ำไปแล้วลูกไม่ชอบเรียนจะทำยังไง?” หรือ “ลูกมาเรียนว่ายน้ำทีไรร้องไห้ทุกทีเลย สงสัยจะไม่ชอบเรียนว่ายน้ำ…?” วันนี้คุณครูจะมาตอบข้อสงสัยเหล่านี้ให้ค่ะ
ไม่ใช่เด็กทารกและเด็กเล็กทุกคนหรอกค่ะ ที่ลงสระแล้วร้องไห้ จริงๆแล้วถือเป็นส่วนน้อยมากๆ เพราะอย่างที่เราทราบกัน “ทารกเกิดมากับน้ำ” นั่นก็คือในถุงน้ำคร่ำระหว่างอยู่ในครรภ์ ดังนั้นทารกวัยแรกเกิด – 4 เดือน จึงเป็นวัยที่ง่ายที่สุดที่จะเรียนว่ายน้ำ เพราะน้องจะคุ้นชินกับน้ำอยู่แล้ว เอ… แล้วเช่นนั้นสาเหตุหลักๆ ที่น้องร้องไห้ตอนว่ายน้ำของน้องๆ วัยทารกนั้นคืออะไรกันแน่?? เรามาดูกันค่ะ
ปัจจัยที่ 1: หิว หรือ ง่วงนอน
ข้อนี้เรียกได้ว่าเป็นสาเหตุหลักอันดับต้นๆ ของน้องหลายๆ คนเลยค่ะ ผู้ใหญ่อย่างเราๆ เวลาหิวหรือง่วงนอนก็ไม่ค่อยอยากทำอะไร น้องๆ ก็เช่นกันค่ะ ยิ่งด้วยวัยของน้องที่ยังไม่สามารถพูดสื่อสารกับคุณพ่อคุณแม่ได้ด้วยแล้ว การโดนจับมาเรียนตอนหิวๆ หรือตอนง่วงนอนนี่เป็นอะไรที่ทรมานจิตใจมากๆ นะคะ เพราะฉะนั้นแนะนำว่าพยายามให้น้องทานให้อิ่มพอประมาณก่อนมาเรียน แต่ก็ไม่ควรอิ่มจนเกินไปนะคะ และควรหยุดให้น้องทานอย่างน้อย 30 นาทีก่อนคลาสเรียนเพื่อหลีกเลี่ยงการอาเจียนระหว่างเรียน ข้อแนะนำอีกข้อคือให้หลีกเลี่ยงการเลือกเวลาเรียนในช่วงเวลาที่เป็นเวลานอนประจำของน้องค่ะ
ปัจจัยที่ 2: อุณหภูมิของน้ำ
อุณหภูมิที่เหมาะสมกับการเรียนการสอยว่ายน้ำทารกและเด็กเล็กที่สุดคือ 30-33 องศาเซลเซียส ซึ่งแน่นอนค่ะว่าถ้าเป็นสระว่ายน้ำสาธารณะหรือสระเปิดตามโรงแรมต่างๆ อุณหภูมิอาจจะยังไม่เหมาะสมกับทารกและเด็กเล็กเพราะน้ำในสระจะเย็นเกินไปรวมถึงสภาพอากาศด้านบนด้วย ข้อแนะนำก็คือขณะอยู่ในสระน้ำอุ่น ให้คุณพ่อคุณแม่อุ้มน้องให้ระดับน้ำอยู่ที่หัวไหล่ของน้องเพราะจะทำให้น้องรู้สึกอบอุ่นตลอดเวลาและให้ความร่วมมือในการเรียนว่ายน้ำเป็นอย่างดีค่ะ
ปัจจัยที่ 3: ความไม่คุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมใหม่ๆ
ปัจจัยในข้อนี้รวมไปถึงความไม่คุ้นกับสถานที่ คุณครู และ เสียงเพลงที่ใช้ในการเรียนการสอนว่ายน้ำ ข้อแนะนำก็คือให้มาพยายามมาถึงก่อนเวลาเรียนว่ายน้ำประมาณ 15-30 นาที เพื่อมีเวลาให้น้องทำความคุ้นชินกับสิ่งต่างๆ รอบๆ ตัวก่อนค่ะ
ปัจจัยที่ 4: คุณพ่อ คุณแม่ หรือคนที่ทำกิจกรรมร่วมกับน้องรู้สึกกังวล
คุณพ่อ คุณแม่ มือใหม่หลายๆ ท่าน เมื่อลงน้ำครั้งแรกๆ จะรู้สึกเก้ๆ กังๆ กลัวอุ้มน้องหลุดมือ หรือกลัวหน้าน้องโดนน้ำ จนอาจจะจับน้องแรงจนเกินไปบ้าง ไม่ทันฟังคุณครูแนะนำบ้าง ความรู้สึกเหล่านี้จะถูกส่งไปถึงน้องโดยตรง น้องจะรับรู้ได้และเกิดความรู้สึกแบบเดียวกันไปด้วยค่ะ ดังนั้น รีแล็กซ์… ค่า มาสนุกกันเถอะ
ปัจจัยที่ 5: หาสาเหตุไม่ได้
ใช่ค่ะ หาสาเหตุไม่ได้ เนื่องจากน้องยังพูดไม่ได้ แต่เดี๋ยวก่อนค่ะ… อย่าเพิ่งตัดสินนะคะว่าน้องไม่ชอบว่ายน้ำ เราควรต้องให้เวลาน้องในการปรับตัวก่อน สิ่งที่ไม่ควรทำมากที่สุดก็คือการให้น้องขึ้นจากสระทุกครั้งที่ร้องไห้ เพราะน้องก็จะร้องไห้ทุกครั้งค่ะเพราะรู้ว่าจะได้ขึ้นจากสระ สิ่งที่ควรทำก็คือ การกอด การปลอบประโลม การใช้น้ำเสียงอบอุ่นคุยกับน้อง การหอม จูบ สัมผัส ให้น้องรู้สึกปลอดภัย และรับรู้ได้ถึงความรักความห่วงใยของคุณพ่อ คุณแม่ที่มีต่อน้องค่ะ
เห็นแล้วใช่มั้ยคะว่าการที่น้องร้องไห้เวลามาเรียนว่ายน้ำนั้นมาได้จากหลากหลายสาเหตุ คุณพ่อคุณแม่ต้องใจเย็นๆ และอย่าเพิ่งย่อท้อกับการร้องไห้ของน้องๆ ในการเรียนครั้งแรกๆ นะคะ เด็กทุกคนมีช่วงเวลาในการร้องไห้ที่แตกต่างกันไป น้องบางคนร้องไห้นานกว่าจะปรับตัวได้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่สำคัญมากๆ ก็คืออย่าเปรียบเทียบน้องกับน้องคนอื่นๆ นะคะ ท่องไว้อย่างเดียวค่ะว่า “Practice makes perfect” ค่า… เบบี้ สวิมมิ่ง ไทยแลนด์ (Baby Swimming Thailand) ขอเป็นกำลังใจให้กับคุณพ่อคุณแม่ทุกท่านนะคะ… Happy Baby Swimming ค่า ^^
อ้างอิง:-
Jim Reiser, M.S., (2015). “About Sport : Swim Lessons and Crying Babies”, http://swimming.about.com/ (accessed on 23rd November 2016)
Laurie Lawrence, (2015). “What if baby cries during swim lessons”, http://worldwideswimschool.com/ (accessed on 23rd November 2016)