ข่าวดังที่สร้างความฮือฮาจนกลายเป็นกระแสสังคมในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาคือกรณีบุคคลากรของโรงเรียนชื่อดังแห่งหนึ่ง ได้กระทำการไม่สมควรด้วยการทำร้ายร่างกายลูกศิษย์วัย “อนุบาล” ซึ่งเป็นแก้วตาดวงใจของหลายครอบครัว โดยหากติดตามข่าวอย่างใกล้ชิดจะทราบค่ะว่ากลุ่มบุคคลากรดังกล่าวไม่มีแม้กระทั่งเอกสารใบประกอบวิชาชีพด้วยซ้ำ ประเด็นที่เราอยากหยิบยกมานำเสนอในวันนี้ก็คือ สิ่งที่ผู้ที่ปวารณาตัวเป็น “แม่พิมพ์ของชาติ” ต้องมีนอกเหนือจากใบประกอบวิชาชีพนั้นคืออะไร เพราะอย่าลืมนะคะว่าลูกๆ ของเราจะต้องใช้ชีวิตและทำกิจกรรมต่างๆ ในแต่ละวันที่โรงเรียนกินเวลายาวนานมากถึงเกือบ 8 ชั่วโมง ดังนั้นหากเราจะเปรียบครูเป็น “แม่คนที่สอง” ของลูกก็ว่าได้ คุณพ่อคุณแม่จึงควรต้องรู้ค่ะว่าครูที่ดีที่มี “หัวใจของความเป็นครู” พร้อมจะอบรมสั่งสอน ดูแล และเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่ลูกของเรานั้นควรมีลักษณะแบบไหน เพื่อจะได้มั่นใจว่าเราได้ฝากแก้วตาดวงใจไว้กับคนที่พร้อมมอบสิ่งที่ดีที่สุดให้กับเขาเช่นกันค่ะ ตามไปดูวิธีเลือกครูให้ลูกรักกันเลยดีกว่าค่ะ

 

“ครูที่ดี” ควรมีลักษณะอย่างไร

ในความเป็นจริงหากพูดถึง “ครูที่ดี” ไม่จำเป็นต้องแบ่งแยกหรอกนะคะว่าเป็นครูของลูกศิษย์วัยไหน เพราะโดยพื้นฐานแล้วคุณครูในทุกระดับชั้นควรมีมาตรฐานทางความรู้ทางวิชาการรวมถึงจิตใจของความเป็นครูที่เท่าเทียมกัน อาจจะแตกต่างกันบ้างในแง่ของความรู้เฉพาะทางที่ครูแต่ละคนได้ร่ำเรียนมา แต่วันนี้เรากำลังจะมาพูดถึง “คุณครูปฐมวัย” ผู้เป็น “คนนอกครอบครัวคนแรก” ที่จะได้บ่มเพาะ เลี้ยงดู และให้ความรู้กับเด็กๆ ประดุจแม่คนที่สองของพวกเขา ซึ่งลักษณะสำคัญของคุณครูปฐมวัยที่ควรมีนั้นมีดังนี้ค่ะ

1. ต้องเข้าใจธรรมชาติของเด็กวัยอนุบาล

ความเข้าใจธรรมชาติและพัฒนาการเด็กวัยอนุบาลนั้นแน่นอนว่าหากคุณครูจบการศึกษาด้าน “ปฐมวัย” มาโดยตรงจะต้องมีความรู้ด้านนี้และมีทักษะทางด้าน “จิตวิทยาเด็ก” เต็มเปี่ยม เนื่องจากเด็กแต่ละวัยมีการพัฒนาบุคลิกภาพที่แตกต่างกัน การมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องนี้จะช่วยให้สามารถสอนเด็กๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นำไปสู่การปูพื้นฐานพัฒนาการที่ดีทั้งทางร่างกาย จิตใจ สติปัญญา อารมณ์และสังคม เสริมสร้างให้เขามีเติบโตอย่างเหมาะสมเต็มศักยภาพ สุขภาพดี และมีความสุข

ยกตัวอย่างเช่น เด็กวัยอนุบาลซึ่งมีช่วงอายุประมาณ 3-5 ขวบ เป็นช่วงวัยแห่งการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ พวกเขาจะกระตือรือร้นและพยายามแสดงความสามารถใหม่ๆ ออกมาให้คนรอบข้างได้เห็น ดังนั้น คุณครูที่ดีควรส่งเสริมให้เขาได้คิดอย่างอิสระโดยไม่ปิดกั้นจินตนาการของเขา ซึ่งจะช่วยให้เขาได้พัฒนาความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ปูพื้นฐานความมั่นใจ กล้าที่จะเป็นผู้นำในการตัดสินใจต่างๆ โดยไม่หวาดหวั่นกับความล้มเหลว พร้อมล้มแล้วลุกขึ้นใหม่เสมอ ซึ่งในทางตรงกันห้าม หากเด็กไม่ได้รับการส่งเสริมตามที่ควรจะเป็น หรือถูกครูตำหนิ บังคับ ควบคุม เขาจะไม่กล้าคิดหรือกล้าลงมือทำอะไรด้วยตนเอง เพราะกลัวทำผิดซ้ำๆ และถูกทำโทษนั่นเองค่ะ

2. มี Empathy เข้าใจหัวใจเด็กและพ่อแม่ พร้อมเป็น Role Model ที่ดี

อย่างที่บอกค่ะว่าคุณครูปฐมวัยคือคนนอกครอบครัวคนแรกที่จะรับไม้ต่อจากคุณพ่อคุณแม่โดยตรงในการดูแลเด็กๆ ต้องคลุกคลีและใช้ชีวิตอยู่กับเด็กตลอดทั้งวัน และเด็กวัยอนุบาลเป็นช่วงวัยแห่งการ “เลียนแบบ” ดังนั้น ทุกๆ อย่างที่ครูพูดหรือลงมือทำคือสิ่งที่เด็กๆ จะจดจำอย่างแม่นยำทีเดียวค่ะ เพราะฉะนั้น คุณครูที่ดีจึงต้องเป็น “Role Model” ที่ดีให้กับเด็ก ไม่ต่างจากคุณพ่อคุณแม่ เชื่อมโยงไปถึงการที่ครูจะต้องมี “Empathy” รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา ต้องเข้าไปนั่งในหัวใจคุณพ่อคุณแม่และเด็กๆ ให้ได้ว่า หากครูเป็นพ่อแม่จะปฏิบัติต่อเด็กซึ่งเป็นลูกของตัวเองอย่างไร

นอกจากนี้ ครูต้องเข้าใจด้วยว่าขณะที่เด็กวัยอนุบาลซึ่งเป็นช่วงวัยที่กำลังซุกซน อยากรู้คำตอบของทุกสรรพสิ่งรอบตัว ต้องอยู่นอกรั้วบ้านกับคนอื่นที่ไม่ใช่พ่อแม่ “คุณครูคือที่พึ่งเดียว” ที่เขามี ดังนั้น ไม่ใช่เรื่องแปลกหากเขาจะยึดเอาครูเป็นทุกสิ่ง ทั้งเรียกร้องความสนใจ ร้องไห้งอแง หรือแม้แต่แบ่งปันเรื่องที่มีความสุข หรือความทุกข์ร้อนในใจเขา ดังนั้น หน้าที่ของครูที่ดีคือต้องใจเย็น เป็นทั้งผู้รับฟังและผู้ให้ที่พักพิงทางกายและใจให้กับเด็กๆ ด้วยความเข้าใจ หากเด็กงอแงต้องพูดคุยกับเขาด้วยเหตุผล ด้วยความอ่อนโยนและความรัก และที่สำคัญคือต้องไม่ใช้ความรุนแรงกับเด็กค่ะ เพราะนอกจากเขาจะไม่เข้าใจการกระทำของครูแล้ว สิ่งที่ครูทำรวมถึงปฏิกิริยาทุกอย่างที่ครูแสดงออกไปจะเป็นการสร้างปม และบาดแผลทางใจให้กับเด็กในอนาคตค่ะ

3. มีหัวใจของความเป็นครู

เมื่อปวารณาตัวเองว่าเป็นครูแล้ว จะต้องมี “หัวใจ” และ “จิตวิญญาณ” ของความเป็นครูค่ะ หัวใจของความเป็นครูคือ ต้องพร้อมทำหน้าที่อบรมสั่งสอนมอบความรู้ให้ลูกศิษย์โดยปราศจากอคติ มีความปรารถนาดีต่อเด็กๆ ไม่ว่าชีวิตช่วงนั้นจะพบเจอปัญหาใดๆ มาก็ตาม เมื่อถึงเวลาต้องทำหน้าที่ครู จะต้องเสียสละเรื่องส่วนตัวของตัวเอง ทิ้งทุกสิ่งไว้นอกรั้วโรงเรียน ไม่ให้ปัญหาหรือความกังวลอื่นใดมารบกวนจิตใจ เพราะทุกขณะที่สวมบทบาทครู คุณคือแม่พิมพ์ของชาติที่ลูกศิษย์ตัวน้อยจะยึดถือทุกกิริยาอาการเป็นแบบอย่าง ดังนั้น อารมณ์ที่เบิกบาน รอยยิ้ม และความเอื้ออาทรด้วยความรักจะต้องออกมาจากหัวใจให้เด็กๆ สัมผัสได้เสมอค่ะ

4. รู้จักสังเกต พร้อมอุทิศกาย ใจ และเวลาให้กับลูกศิษย์

ต้องยอมรับค่ะว่า การเป็นครูปฐมวัยที่ต้องรับมือกับเด็กวัยอนุบาลที่มารวมตัวกันจำนวนหลักสิบต่อหนึ่งห้องเรียนเป็นภาระหน้าที่ที่ต้องใช้พลังงานมหาศาล เพราะนอกจากต้องรับมือกับธรรมชาติการเรียนรู้และความซุกซนของเด็กๆ แล้ว ยังต้องเตรียมความพร้อมของการเรียนการสอนที่ส่วนใหญ่คือการเรียนรู้แบบ “ลงมือทำ” ดังนั้น กิจกรรมต่างๆ ต้องมาเต็ม ทั้งการเล่านิทาน กิจกรรมเรียนรู้ผ่านประสาทสัมผัส งานประดิษฐ์และงานศิลปะต่างๆ การร้องรำทำเพลง ออกท่าทาง รวมไปถึงการพาเด็กๆ ออกกำลังกาย เรียกว่าต้องอุทิศกาย ใจ และเวลาให้กับลูกศิษย์เลยทีเดียวค่ะ

นอกเหนือไปจากนี้ คุณครูที่ดียังต้องช่างสังเกต รู้จักจดจำลักษณะนิสัย ความชื่นชอบและตัวตนของลูกศิษย์แต่ละคนด้วยค่ะ เพราะแน่นอนว่าคุณพ่อคุณแม่ต้องคาดหวังที่จะได้รับรู้พฤติกรรม พัฒนาการ และความเป็นอยู่ของลูกอยู่แล้ว คุณครูจึงต้องรู้จักสังเกตเด็กแต่ละคนและตอบคำถามคุณพ่อคุณแม่ของพวกเขาให้ได้ว่า ขณะอยู่โรงเรียนลูกเขาเป็นเด็กแบบไหน ทานข้าวกับอะไร สนใจวิชาใดหรือโดดเด่นด้านใดเป็นพิเศษ ความสัมพันธ์กับเพื่อนในห้องเป็นอย่างไร และทำกิจกรรมอะไรบ้างในแต่ละวัน ซึ่งการสังเกตลูกศิษย์อยู่เสมอจะช่วยให้ทั้งครูและคุณพ่อคุณแม่รู้จักตัวตนจริงๆ ของเด็ก และสามารถช่วยกันส่งเสริมข้อดีรวมถึงแก้ไขข้อด้อยของพวกเขาได้นะคะ

 

พ่อแม่ควรรู้…วิธีเลือก “ครูที่ดี” ให้ลูกน้อย

เมื่อไรก็ตามที่ตัดสินใจส่งลูกน้อยซึ่งเป็นแก้วตาดวงใจไปโรงเรียน นั่นหมายถึงการที่คุณพ่อคุณแม่พร้อมที่จะ “ไว้วางใจ” และยอมรับให้ “ครู” เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมพัฒนาการและการเจริญเติบโตของลูก “ครู” จะเป็นอีกหนึ่งแม่พิมพ์ที่สร้างตัวตนและบุคลิกภาพของเขาในอนาคต ดังนั้น การเลือกครูคนแรก หรือโรงเรียนแห่งแรกให้ลูกปฐมวัยจึงสำคัญค่ะ

ซึ่งหลักเกณฑ์เพียงข้อเดียวที่เราขอแนะนำให้คุณพ่อคุณแม่นำไปใช้เพื่อประกอบการพิจารณาเลือกโรงเรียนและคุณครูให้ลูก คือ “โรงเรียนที่ดังที่สุด ค่าเทอมแพงที่สุด มีสถิติการสอบเข้าสถาบันต่างๆ ได้สูงสุด” ไม่ได้หมายความว่าเป็น “โรงเรียนที่ดีและเหมาะสมที่สุด” สำหรับลูก เพราะหัวใจหลักของการเลือกโรงเรียนให้ลูกปฐมวัยไม่ใช่แค่เรื่องของ “วิชาการ” แต่คือการเลือก “แบบอย่างที่ดี” ให้กับเด็ก ดังนั้น ควรเลือกโรงเรียนที่คุณครูมี “หัวใจของความเป็นครู” มีความเมตตา เข้าใจธรรมชาติเด็ก เคารพในตัวตนที่แตกต่างของเด็ก และไม่ใช่ “ฟังเขามา” ก็เลือกได้แล้วนะคะ แต่คุณพ่อคุณแม่ต้องพาตัวเองเข้าไปสัมผัส ทำความรู้จักกับโรงเรียนและคุณครูด้วยตัวเองก่อนตัดสินใจเลือก ไม่ใช่เลือกเพราะมีคนบอกว่าดีเพียงอย่างเดียวนะคะ

เด็กทุกคนคือผ้าขาวแสนบอบบางค่ะ ทุกสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่และคุณครูให้ไปเขาจึงซึมซับไว้แทบทั้งหมด และพร้อมจะฉีกขาดได้ทุกเมื่อหากสิ่งที่รับเอาไว้มีความเป็นกรดหรือด่างมากเกินไป ความเป็นครูจึงไม่ต่างกับความเป็นพ่อแม่ ต้องพร้อมอุทิศชีวิตและจิตใจรวมถึงเวลาในการที่จะปลูกฝังพฤติกรรมที่ดี ที่เหมาะสม เสริมสร้างพัฒนาการการเรียนรู้อย่างสมวัยให้กับเด็กอนุบาลซึ่งเป็นช่วงวัยที่กำลังเจริญเติบโตทางด้านความคิดและการจดจำ ดังนั้น การเลือกครูที่ดีให้ลูกจึงมีความสำคัญมากๆ และการเป็น “ครูที่ดี” ยิ่งสำคัญมากขึ้นไปอีก เพราะเราทุกๆ คนต้องร่วมด้วยช่วยกัน “สร้างรากฐานที่ดีของประเทศ” ให้เด็กๆ ทุกคนเติบโตอยู่ในสังคมที่ดีเพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศของเราในอนาคตนะคะ


🌐 babyswimmingthailand.com

✨มาร่วมมอบของขวัญล้ำค่าที่จะติดตัวลูกของคุณไปตลอดชีวิตกับ BABY SWIMMING โรงเรียนสอนว่ายน้ำเด็กแห่งเดียวในประเทศไทยที่ได้รับการรับรองมาตรฐานคุณภาพ ISO 9001 และได้รับความไว้วางใจจากโรงพยาบาลชั้นนำ 🇹🇭💯🏆🎉😊🙏🏻✨

✨”BABY SWIMMING, A Precious Gift for Your Kids” 🐳 🏊🏻 💦 💙 🎁 ✨

#babyswimming #สอนว่ายน้ำเด็ก #เรียนว่ายน้ำเด็ก #สระว่ายน้ำเด็ก #โรงเรียนสอนว่ายน้ำเด็ก #สระน้ำอุ่น #สระในร่ม

Share this