เด็กๆ ทุกคนมักจะมีความอยากรู้อยากเห็น ชอบความสนุกสนาน บ้าพลัง และชอบท้าทาย จนคุณพ่อคุณแม่หลายๆ ท่านอาจถอดใจกับความปั่นป่วนเพราะสู้ไม่ไหว ไม่รู้จะรับมืออย่างไร ถึงแม้ว่าจะยังไม่มีสูตรสำเร็จการเลี้ยงลูกวางขายตามท้องตลาด แต่การรับมือกับเด็กๆ จะง่ายขึ้นถ้าคุณพ่อคุณแม่ฝึกที่จะหลีกเลี่ยงพฤติกรรมต่างๆ เหล่านี้ค่ะ
1. ทำอะไรไม่เป็นเวลา
เด็กๆ ส่วนใหญ่มักจะมีพฤติกรรมที่ดีขึ้นหากถูกปลูกฝังให้เรียนรู้ว่าควรคาดหวังอะไร ตอนไหน เช่น ช่วงเวลาไหนเป็นเวลาทานข้าว อาบน้ำ และหากไม่ทำจะเกิดผลอย่างไร คุณพ่อคุณแม่จึงควรกำหนดตารางเวลาทำกิจวัตรประจำวันที่แน่นอน (ที่สุดเท่าที่เป็นไปได้) และตกลงกันล่วงหน้าว่าถ้าเด็กๆ ไม่ทำตามจะแสดงออกอย่างไร (ที่เหมือนกันทั้งคุณพ่อคุณแม่) เพราะเด็กๆ สามารถรับรู้และจดจำกิจวัตรเหล่านั้นได้ เช่น เวลาอาบน้ำ เวลาทานข้าว หรือเวลานอน การทำเช่นนี้ยังเป็นแบบทดสอบวินัยได้อีกด้วยว่าเวลาที่อยู่นอกสายตาพ่อแม่ เด็กๆ จะยังคงทำสิ่งนั้นอยู่หรือไม่
2. มีเวลาคุย 2:2 กับลูกน้อยเกินไป
คุณพ่อคุณแม่ส่วนใหญ่มักจะชอบให้ลูกใช้เวลาทำกิจกรรมร่วมกันภายในครอบครัว เช่นกับพี่น้อง คุณปู่คุณย่า คุณตาคุณยาย หรือญาติๆ การให้เด็กๆ ได้ทำกิจกรรมต่างๆ กับสมาชิกในครอบครัวเป็นสิ่งที่ดี แต่บางครั้งเด็กๆ ก็ต้องการใช้เวลาส่วนตัวกับผู้ปกครอง 2 : 2 ค่ะ ซึ่งสามารถทำได้ง่ายๆ โดยการนั่งเล่นกับลูก อ่านหนังสือ หรือเล่านิทานก่อนนอนให้ฟัง
3. ช่วยเหลือลูกเกินความจำเป็น
คุณพ่อคุณแม่หลายๆ ท่านมักจะกุลีกุจอรีบช่วยเหลือลูกในทุกๆ เรื่อง เมื่อเห็นว่าลูกกำลังติดขัดหรือเผชิญกับปัญหาบางอย่าง เช่น เวลาที่ลูกกำลังต่อจิ๊กซอว์ หรือใส่เสื้อผ้าเอง แต่ทราบหรือไม่คะว่าการกระทำแบบนั้นกลับเป็นการส่งสัญญาณให้ลูกรับรู้ว่าเค้าไม่สามารถทำสิ่งเหล่านั้นได้เองและทำให้ลูกขาดความมั่นใจในตัวเองค่ะ ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่จึงควรสอนให้ลูกมีความอดทนกับปัญหา และพยายามไม่ช่วยเหลือลูกเกินความจำเป็น แต่เปลี่ยนมาเป็นกองเชียร์และกล่าวชื่นชมเมื่อลูกทำสำเร็จได้ด้วยตัวเองแทนค่ะ
4. พูดอธิบายมากเกินไป
หลายๆ ครั้งคุณพ่อคุณแม่อาจเข้าใจว่าลูกๆ คือผู้ใหญ่ในร่างเด็กที่สามารถเข้าใจเหตุผลต่างๆ นาๆ ได้ แต่ในความเป็นจริงแล้วเด็กเล็กยังไม่สามารถประมวลเหตุและผลได้เหมือนผู้ใหญ่นะคะ เช่น เมื่อถึงเวลาทานข้าวแต่ลูกงอแงจะขอทานคุกกี้ก่อน คุณพูดห้ามและบอกว่าเป็นเวลาทานข้าว แต่ลูกก็ยังคงจะหยิบคุกกี้จากถุงอยู่ดี คุณจึงหยิบถุงขนมไปเก็บและพยายามอธิบายเหตุผลต่างๆ นาๆ จนลูกร้องไห้และโวยวายในที่สุด การพูดคุยและอธิบายเหตุผลกับลูกเป็นสิ่งที่ดีค่ะ แต่ในจังหวะที่ต้องการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไม่ดีของลูกอาจไม่ใช่เวลาที่ดีเท่าไหร่ ทางแก้ไขในกรณีที่ลูกไม่เชื่อฟัง คุณพ่อคุณแม่ควรพูดเตือนเพียงสั้นๆ หรือใช้วิธีนับ 1-3 ก่อน แต่หากลูกยังไม่เชื่อฟังอีกก็ควรมีบทลงโทษที่ชัดเจนทันทีโดยหลีกเลี่ยงการอธิบายซ้ำซากยืดเยื้อค่ะ
5. ให้ลูกทานแต่อาหารที่ไม่มีประโยชน์
คุณพ่อคุณแม่หลายท่านอาจตระหนักถึงคุณประโยชน์ของอาหารสายเกินไป เคยชินกับการให้แต่อาหารที่ไม่เป็นประโยชน์กับลูกเนื่องจากลูกทานยากเลยตัดรำคาญ แต่พอจะให้ลูกทานอาหารที่มีประโยชน์ลูกก็กลับไม่ยอมทานเสียแล้ว งานวิจัยกล่าวไว้ว่าเด็กๆ ส่วนใหญ่ยอมที่จะลองทานอาหารใหม่ๆ ที่ไม่คุ้นเคยถ้าเห็นพ่อแม่ทานเป็นตัวอย่างอย่างมีความสุข ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่เองก็ต้องทานอาหารนั้นให้ลูกดูเป็นตัวอย่างนะคะ เคล็ดลับก็คือคุณพ่อคุณแม่ต้องมีความอดทนหากน้องไม่ยอมทานในครั้งแรกๆ เพราะเด็กบางคนอาจต้องลองหลายครั้งกว่าจะยอมทาน และเป็นเรื่องปกติสำหรับเด็กๆ ที่จะงองแงไม่ยอมทานอาหารที่คุณพ่อคุณแม่เลือกให้ บางครั้งคุณพ่อคุณแม่อาจใช้การสร้างสถานการณ์จำลอง เช่น สร้างสถานการณ์แย่งกันกินผัก เพื่อช่วยให้น้องทานง่ายขึ้นก็ได้ค่ะเนื่องจากเด็กเล็กมักมีนิสัยชอบเอาชนะ
6. ให้ลูกเลิกนอนเปล/เตียงเด็กเร็วเกินไป
การนอนในเปล/เตียงเด็ก (Crib) นอกจากจะทำให้ลูกนอนได้อย่างปลอดภัยแล้วยังช่วยสร้างนิสัยการนอนที่ดีให้กับลูกอีกด้วยนะคะ งานวิจัยกล่าวไว้ว่าเด็กที่ถูกย้ายให้มานอนในเตียงตัวเองเร็วเกินไปมักจะประสบปัญหาการนอนหลับและมักจะลงเอยโดยการปีนกลับมานอนในเตียงเดียวกับคุณพ่อคุณแม่ ทำให้คุณพ่อคุณแม่ต้องเหนื่อยกับการนอนจัดการกับลูกๆ ให้หลับทุกๆ คืนโดยหารู้ไม่่ว่านิสัยที่ลูกนอนไม่หลับนั้นแท้จริงแล้วเกิดจากคุณพ่อคุณแม่เองเป็นคนสร้างขึ้นมา ดังนั้นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่จะให้ลูกเลิกนอนเปลคือเมื่อลูกเริ่มเรียกร้องอยากนอนเตียงตัวเองหรือเริ่มที่จะปีนเปล/เตียงเด็กซึ่งมักจะเป็นช่วงอายุ 2-3 ขวบค่ะ
7. ฝึกให้เข้าห้องน้ำเองไวเกินไป
คุณพ่อคุณแม่บางท่านรีบร้อนในการสอนให้ลูกเข้าห้องน้ำเองและหงุดหงิดเวลาลูกไม่สามารถทำได้อย่างที่อยากให้เป็น เรื่องนี้เป็นสิ่งต้องห้ามอย่างยิ่งนะคะเพราะจำทำให้ทั้งน้องและทั้งคุรพ่อคุณแม่เครียดไปเปล่าๆ คุณครูขอแนะนำว่าควรปล่อยให้น้องๆ เรียนรู้ด้วยตนเองเมื่อพร้อมและถึงช่วงอายุที่เหมาะสม คุณพ่อคุณแม่ไม่จำเป็นต้องรีบร้อนค่ะแต่ควรค่อยๆ อธิบายวิธีการใช้ห้องน้ำให้น้องฟัง หรือให้ลูกดูเวลาคุณพ่อคุณแม่เข้าห้องน้ำ (ถ้าไม่รู้สึกเขินนะคะ) และไม่ต้องกังวลนะคะว่าถ้าลูก 4 ขวบแล้วยังใส่แพมเพิสอยู่ เพราะไม่มีเด็กคนไหนไปเรียนมหาวิทยาลัยโดยใส่แพมเพิสอยู่ค่า แต่จะเลิกช้าเลิกเร็วอันนี้ขึ้นอยู่กับตัวน้องเองนะคะ
8. ให้ดูทีวีหรือเล่นมือถือมากไป
ข้อนี้น่าจะเป็นข้อผิดพลาดอันดับต้นๆ ของหลายๆ ครอบครัวเลยค่ะ ปัจจุบันเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในชีวิตของเรามากขึ้น แต่สำหรับเด็กแล้วมีงานวิจัยหลายชิ้นที่พิสูจน์แล้วว่าหากให้ดูทีวีหรือเล่นมือถือจนมากเกินไปจะส่งผลต่อการเรียนรู้ในภายหลัง ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรหากิจกรรมอื่นให้ลูกทำหรืออ่านหนังสือให้ลูกฟังแทนการให้ดูมือถือหรือทีวี รวมถึงการชวนลูกพูดคุย สอนให้พูดและฟังจะเป็นประโยชน์มากกว่าค่ะ
9. พยายามหยุดลูกร้องไห้โวยวาย
คุณพ่อคุณแม่หลายๆ ท่านมักจะรู้สึกอับอายเวลาลูกร้องไห้โวยวายในที่สาธารณะเพราะรู้สึกถึงหลายสายตาที่มองมาเหมือนเป็นพ่อแม่ที่ไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ใดๆ ได้ ทางออกส่วนใหญ่เมื่อพบกับสถานการณ์ดังกล่าวคุณพ่อคุณแม่จึงมักจะพยายามพูดคุยกับลูกในขณะที่ลูกกำลังโวยวายเพื่อให้ลูกสงบ ซึ่งคุณครูขอแนะนำค่ะว่าไม่มีประโยชน์ใดๆ สิ่งที่ควรทำคือพาน้องออกไปให้พ้นจากจุดเกิดเหตุหรือสายตาที่จ้องมองมาและปล่อยให้น้องสงบลงเอง หลังจากนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรกอดน้องเพื่อแสดงความรัก ค่อยๆ อธิบายเหตุผล และใช้ชีวิตตามปกติกับลูกอย่างมีความสุขต่อไปค่ะ
เห็นแล้วใช่ไหมคะว่าเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ก็เป็นสิ่งสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรละเลย แล้วอย่าลืมมาแบ่งปันเรื่องราวและวิธีดูแลลูกรักให้คุณครูฟังกันด้วยน้าาา…
Cr. Webmd และ Pixabay
✨มาร่วมมอบของขวัญล้ำค่าที่จะติดตัวลูกของคุณไปตลอดชีวิตกับ BABY SWIMMING โรงเรียนสอนว่ายน้ำเด็กแห่งเดียวในประเทศไทยที่ได้รับการรับรองมาตรฐานคุณภาพ ISO 9001 และได้รับความไว้วางใจจากโรงพยาบาลชั้นนำ 🇹🇭💯🏆🎉😊🙏🏻✨
✨”BABY SWIMMING, A Precious Gift for Your Kids” 🐳 🏊🏻 💦 💙 🎁 ✨
#babyswimming #สอนว่ายน้ำเด็ก #เรียนว่ายน้ำเด็ก #สระว่ายน้ำเด็ก #โรงเรียนสอนว่ายน้ำเด็ก #สระน้ำอุ่น #สระในร่ม