แน่นอนค่ะว่าเด็กๆ กับความซุกซนเป็นของคู่กันจนคุณพ่อคุณแม่บางท่านมองเห็นเป็นเรื่องธรรมดา แถมงานวิจัยบางชิ้นยังระบุด้วยว่าเด็กซนคือเด็กฉลาด แต่เหรียญมี 2 ด้านเสมอค่ะ เพราะบางครั้งความซุกซนยุกยิกจนทำกิจกรรมใดๆ ได้ไม่นานของเจ้าตัวเล็ก อาจแปลความหมายได้ว่าเขาเสี่ยงต่อการเป็น “โรคสมาธิสั้น” โรคยอดฮิตตอนนี้ของเด็กทั่วโลก ซึ่งจะส่งผลกระทบด้านลบต่อการเรียนรู้ของลูกน้อยได้ค่ะ
แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรล่ะ? ว่าความซุกซนของลูกนั้นเป็นไปตามพัฒนาการของแต่ละช่วงวัย หรือเขาซุกซนมากเกินไปจนเข้าข่าย “สมาธิสั้น” กันแน่ ตามมาดูวิธีสังเกตเพื่อเช็กลิสต์ไปพร้อมๆ กันเลยค่ะ
ทำความรู้จักโรคสมาธิสั้นในเด็ก
โรคสมาธิสั้น หรือ Attention Deficit Hyperactivity Disorder นั้นเป็นกลุ่มอาการผิดปกติทางพฤติกรรมและอารมณ์ค่ะ เป็นภาวะที่สามารถพบได้บ่อยกับเด็กๆ ทุกชาติพันธุ์ทั่วโลกโดยสัดส่วนเฉลี่ยประมาณ 2:25 คนในหนึ่งชั้นเรียนของเด็กจะพบโรคนี้ ซึ่งถือว่าเป็นอัตราส่วนที่เยอะมากๆ ใช่ไหมล่ะคะ โรคนี้เมื่อเป็นแล้วต้องรักษาดูแลกันอย่างยาวนานต่อเนื่องนะคะ โดยทั่วไปเด็กๆ จะมีอาการดีขึ้นหรือหายได้เมื่อเขาโตขึ้น แต่ก็แค่ประมาณ 30% เท่านั้นนะคะ อีก 70% ที่เหลือจะยังคงมีอาการจนถึงวัยผู้ใหญ่เลยค่ะ และสาเหตุของโรคนี้ก็เกิดได้จากหลายปัจจัย ดังนี้ค่ะ
ความผิดปกติบางอย่างของร่างกายเด็ก อาทิ สารเคมีบางชนิดในสมองซึ่งเป็นสารที่เกี่ยวข้องกับการสร้างสมาธิมีความผิดปกติ เช่น สารโดปามีน (Dopamine) และสารนอร์อิพิเนฟริน (Norepinephrine) เป็นต้น นอกจากนี้ยังอาจเกิดจากความผิดปกติในการทำงานของวงจรที่ควบคุมสมาธิและการตื่นตัว บริเวณสมองส่วนหน้า (Frontal Cortex) ก็เป็นไปได้เช่นกันค่ะ
- เกิดจากกรรมพันธุ์ คือหากคุณพ่อคุณแม่เป็นโรคสมาธิสั้น โอกาสที่จะถ่ายทอดโรคนี้สู่ตัวลูกน้อยก็มีสูงค่ะ
- หากเจ้าตัวเล็กเป็นเด็กที่คลอดก่อนกำหนด และมีน้ำหนักแรกคลอดน้อย หรือได้รับอุบัติเหตุรุนแรงทางสมอง ก็ยิ่งมีโอกาสเสี่ยงเพิ่มขึ้นในการเป็นโรคสมาธิสั้นค่ะ
- การอาศัยหรือใช้ชีวิตประจำวันในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม เช่น ใกล้แหล่งสารพิษ โดยเฉพาะพิษจากสารตะกั่ว หรือได้รับพิษบุหรี่จากคุณพ่อหรือคุณแม่ในระหว่างตั้งครรภ์ ตลอดจนการเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสมก็ทำให้ลูกน้อยมีภาวะเสี่ยงต่อโรคสมาธิสั้นได้เช่นกันค่ะ
เช็คลิสต์! สังเกตอาการ… ลูกเสี่ยงเป็นโรคสมาธิสั้นหรือเปล่า?
โดยธรรมชาติเด็กแต่ละช่วงวัยจะมีระดับสมาธิไม่เท่ากันอยู่แล้วนะคะ โดยเด็กเล็กจะมีสมาธิสั้นกว่าเด็กโต ในช่วงอายุขวบปีแรกลูกจะมีสมาธิไม่เกิน 2-3 นาที แล้วจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ คือ 1-2 ขวบขยับมาเป็น 3-5 นาที วัยอนุบาลประมาณ 5-15 นาที และช่วงประถมต้นประมาณ 15-30 นาทีขึ้นไป ดังนั้น ต้องลองสังเกตลูกก่อนค่ะว่าด้วยช่วงวัยของลูก การมีสมาธิจดจ่ออยู่กับกิจกรรมอะไรสักอย่างของเขานั้นกินระยะเวลานานเท่าไร เข้าข่ายน้อยเกินไปจนผิดปกติหรือไม่ หรือมีลักษณะอาการดังต่อไปนี้หรือเปล่า
อันดับแรกคือ ระหว่างที่ลูกทำกิจกรรมใดๆ ก็ตามในสระว่ายน้ำ นอกจากคุณครูผู้สอนว่ายน้ำแล้ว บุคคลที่ควรอยู่ใกล้ชิดกับเขามากที่สุดคือคุณพ่อหรือคุณแม่คนใดคนหนึ่งนะคะ เพราะจะช่วยเป็นแรงกระตุ้นและกำลังใจให้ลูกได้ลงมือทำกิจกรรม รวมถึงเป็นความอบอุ่นใจให้เขารู้ว่าเขาจะสนุกเรียนรู้ได้อย่างปลอดภัยภายใต้การดูแลของคุณพ่อคุณแม่ค่ะ
☹ ลูกมีลักษณะอาการของเด็กขาดสมาธิ เช่น เมื่อถูกเรียกชื่อแล้วไม่หันมา มักเหม่อลอย หรือไม่ทำตามคำบอกหรือทำได้ไม่ครบตามคำสั่ง เนื่องจากไม่สามารถฟังประโยคยาวๆ ได้จนจบความ จับคำพูดได้เพียงประโยคแรกๆ เท่านั้น เขาจึงไม่สามารถรับความรู้ได้เต็มที่ทั้งที่บ้านและในห้องเรียน หลงลืมบ่อยๆ ทำผิดพลาดบ่อย ทำการบ้านไม่เสร็จ หรือทำของหายเป็นประจำ เป็นต้น
☹ ลูกมีความหุนหันพลันแล่น วู่วาม มักชอบพูดแทรก พูดสวน หรือพูดโพล่งขึ้นมากลางการสนทนา ไม่สามารถรับรู้ความต้องการของผู้อื่นได้ เป็นเด็กที่ไม่สามารถรอคอยได้และจะต้องโต้ตอบทันที อาจมีพฤติกรรมแซงคิวขณะเข้าคิวทำกิจกรรมหรือซื้ออาหาร บางครั้งอาจไม่สามารถรอเวลาเพื่อข้ามถนนได้ซึ่งกรณีนี้ถือว่าอันตรายมากนะคะ
☹ ลูกซนมาก อย่างที่บอกค่ะว่าเด็กซนอาจหมายถึงการที่เขาปรารถนาที่จะเรียนรู้ด้วยศักยภาพตามช่วงวัย แต่ก็มีเส้นบางๆ คั่นระหว่างความซนกับโรคสมาธิสั้นเช่นกัน ดังนั้น หากลูกซนมากๆ ไม่อยู่นิ่ง ชอบวิ่งแบบไม่หยุดหย่อน ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ชอบเล่นแรงๆ แผลงๆ ชอบปีนป่าย โลดโผน ชอบแกล้ง ทำท่ายุกยิกตลอดเวลา หรือมีการขยับส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายอยู่เสมอ อาจเป็นไปได้ค่ะว่าเจ้าตัวเล็กเสี่ยงต่อการเป็นโรคสมาธิสั้น
จะเป็นอย่างไรถ้าลูกกลายเป็น “เด็กสมาธิสั้น”
ภาวะสมาธิสั้นนั้นส่งผลกระทบด้านลบในหลายมิตินะคะ และบางครั้งอาจสร้างแรงกระเพื่อมไปถึงคุณพ่อคุณแม่และคนรอบข้างเขาได้ด้วยค่ะ
- มีผลต่อศักยภาพการเรียนรู้ของลูก เมื่อเขามีอาการเหม่อลอย ทำงานไม่เสร็จ ทำอย่างสะเพร่า ทำให้ลูกไม่สามารถเรียนรู้ได้เต็มศักยภาพ ถึงแม้เขาจะมีระดับสติปัญญาอยู่ในเกณฑ์ปกติก็ตาม
- มีผลต่ออารมณ์และพฤติกรรมของลูก แน่นอนค่ะว่าเด็กซนมักถูกดุ และการถูกดุด่าว่ากล่าวบ่อยๆ นี่เองที่จะทำให้เด็กๆ มีพฤติกรรมด้านลบ เช่น ดื้อ เกเร ไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบ อดทนรอคอยไม่ได้ มีอาการหงุดหงิด ขาดความภาคภูมิใจในตัวเอง และอาจส่งผลให้เขาป่วยเป็นโรคซึมเศร้าได้นะคะ
- การมีอารมณ์และพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ ยังส่งผลให้ลูกขาดการมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้างและครอบครัว หากไม่ได้รับการแก้ไข หรือได้รับการดูแลอย่างไม่ถูกต้องเหมาะสมลักษณะนิสัยและพฤติกรรมนี้จะติดตัวเขาไปจนโตเลยค่ะ
ควรจัดการอย่างไรเมื่อลูกเข้าข่าย “เด็กสมาธิสั้น”
อันดับแรกคือ คุณพ่อคุณแม่ต้องทำความเข้าใจธรรมชาติของโรคนี้ก่อนค่ะ แล้วนำข้อดีของการที่ลูกไม่ชอบอยู่นิ่งมาใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยชวนลูกทำกิจกรรมต่างๆ บ่อยๆ ออกกำลังกายบ้างเพื่อฝึกสมาธิ เช่น พาลูกไปเรียนว่ายน้ำ เรียนศิลปะ เรียนดนตรี หรือจัดกิจวัตรประจำวันของลูกให้เป็นเวลาโดยให้เขาทำอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้เขาฝึกฝนการควบคุมตัวเอง ฝึกการจดจ่ออยู่กับกิจกรรมที่ทำเพื่อสร้างสมาธิโดยจับเวลาให้นานประมาณ 20-30 นาที ซึ่งแน่นอนว่าคุณพ่อคุณแม่ต้องอยู่ดูแลอย่างใกล้ชิด คอยให้กำลังใจและช่วยเหลือให้ลูกทำได้สำเร็จค่ะ แล้วอย่าลืมกอดและจูบลูกเบาๆ เป็นรางวัลความพยายามและความตั้งใจจริงของเขาด้วยนะคะ
★ สร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ไม่กระตุ้นสายตาและความรู้สึกของลูกมากเกินไป โดยจัดเก็บข้าวของต่างๆ ให้เข้าที่ มีมุมสงบสำหรับเจ้าตัวเล็กทำการบ้านโดยเฉพาะ และนำสิ่งเร้า สิ่งรบกวนอย่างทีวี โทรศัพท์มือถือออกจากห้อง ป้องกันไม่ให้เขาวอกแวกค่ะ
★ งดการเลี้ยงดูหรือให้รางวัลลูกด้วย “เทคโนโลยี” ค่ะ เจ้าตัวเล็กที่อายุต่ำกว่า 2 ขวบ ไม่ควรได้ดูทีวี วิดีโอ หรือไม่ควรได้รู้จักกับคอมพิวเตอร์และเกมเลยค่ะ เพราะสิ่งเร้าที่ภาพและเสียงแวบไปแวบมาเหล่านี้แหละค่ะคือตัวกระตุ้นชั้นดีให้เขาไม่สามารถจดจ่ออยู่กับกิจกรรมได้ จนเสี่ยงกลายเป็นเด็กสมาธิสั้น แต่หากลูกรักโตเกินวัย 2 ขวบไปแล้ว จะให้เขาทำความรู้จักหรือเรียนรู้เทคโนโลยีเหล่านี้ก็ได้ค่ะ แต่ต้องใช้เวลากับโลกดิจิทัลไม่เกิน 1-2 ชั่วโมงต่อวันนะคะ
★ เป็น Role Model ที่ดีและเหมาะสมให้ลูก คุณพ่อคุณแม่ควรให้ลูกเห็นวินัยการทำกิจวัตรประจำวันของตนเอง เช่น ทำความสะอาดบ้าน ทำอาหาร รดน้ำต้นไม้ ออกกำลังกาย อ่านหนังสือ เพื่อให้ลูกซึมซับความมีวินัยและการใช้เวลาอยู่กับกิจวัตรประจำวันแบบนั้นเช่นกัน
★ การให้ลูกทำกิจกรรมตามคำสั่งใดๆ ก็ตาม ควรสั่งหรือบอกทีละอย่างเป็นขั้นตอนแบบค่อยเป็นค่อยไป เป็นคำสั่งที่สั้น กระชับ ชัดเจน และลองชวนให้เจ้าตัวเล็กพูดทบทวนคำสั่งเพื่อตรวจสอบความเข้าใจก่อนลงมือทำ จะช่วยให้เขาทำตามได้ง่ายขึ้นและได้ฝึกการคิดอย่างเป็นระบบด้วยค่ะ แต่หากลูกยังทำไม่ได้หรือซุกซนมาก อย่าเพิ่งดุหรือใช้คำพูดเชิงลบกับลูกนะคะ โดยเฉพาะคำว่าโง่ ขี้เกียจ ไม่น่ารัก เพราะจะทำให้เขารู้สึกว่าตัวเองด้อยคุณค่าจนกลายเป็นตราบาปในใจลูกไปจนโตค่ะ
★ หากลองปรับพฤติกรรมลูกด้วยวิธีต่างๆ ข้างต้นแล้วแต่ยังไม่มีวี่แววว่าอาการสมาธิสั้นของลูกจะดีขึ้น แนะนำให้คุณพ่อคุณแม่ปรึกษาแพทย์เฉพาะทางทันที เพื่อรับคำแนะนำและการรักษาอย่างตรงจุดและถูกวิธีดีที่สุดนะคะ
สมาธิสั้นเป็นโรคที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาค่ะ เพราะหากปล่อยไว้อาจจะส่งผลเสียต่อพัฒนาการด้านการเรียนรู้และสติปัญญาของลูก ความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว และการอยู่ร่วมกับคนในสังคม ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ก็ควรเปิดใจ ยอมรับ มีความอดทนในการปรับพฤติกรรมของตนเองพร้อมๆ กับเรียนรู้วิธีการปรับพฤติกรรมของลูก พบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ และสื่อสารทำความเข้าใจกับทางโรงเรียน เพื่อร่วมมือกันดูลูกรักอย่างถูกต้องช่วยให้เขาหายจากโรคสมาธิสั้นหรือมีอาการดีขึ้นจนสามารถใช้ชีวิตใกล้เคียงกับเด็กปกติได้นะคะ
✨มาร่วมมอบของขวัญล้ำค่าที่จะติดตัวลูกของคุณไปตลอดชีวิตกับ BABY SWIMMING โรงเรียนสอนว่ายน้ำเด็กแห่งเดียวในประเทศไทยที่ได้รับการรับรองมาตรฐานคุณภาพ ISO 9001 และได้รับความไว้วางใจจากโรงพยาบาลชั้นนำ 🇹🇭💯🏆🎉😊🙏🏻✨
✨”BABY SWIMMING, A Precious Gift for Your Kids” 🐳 🏊🏻 💦 💙 🎁 ✨
#babyswimming #สอนว่ายน้ำเด็ก #เรียนว่ายน้ำเด็ก #สระว่ายน้ำเด็ก #โรงเรียนสอนว่ายน้ำเด็ก #สระน้ำอุ่น #สระในร่ม