train baby to have gentle mind

มนุษย์เป็นสัตว์สังคมค่ะ และการที่คนคนหนึ่งจะใช้ชีวิตอยู่ในสังคมอย่างมีความสุขได้ จำเป็นต้องอาศัยทักษะที่ดีในการอยู่ร่วมกับผู้อื่น และการมี “จิตใจอ่อนโยน” ก็คือปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่จะทำให้มนุษย์สามารถอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างสงบสันติและมีความสุขค่ะ 

ดังนั้น วันนี้เราจึงขอชวนคุณพ่อคุณแม่มารวมพลัง ปลูกฝังลูกให้เป็นเด็กที่มีจิตใจอ่อนโยน ด้วย 6 วิธีที่เรานำมาฝาก จะมีอะไรบ้างต้องตามมาดูกันค่ะ

เด็กที่จิตใจอ่อนโยน ไม่ใช่คนที่อ่อนแอ

ก่อนอื่นมาทำความเข้าใจกันค่ะว่า “จิตใจอ่อนโยน” ที่เรากำลังพูดถึงคือ ความนุ่มนวล ไม่หยาบคาย ไม่แข็งกระด้าง การปลูกฝังเรื่องเหล่านี้ให้กับลูกอย่างถูกต้องเหมาะสมตั้งแต่วัยเยาว์ จะทำให้ลูกมีพัฒนาการทางอารมณ์และจิตใจที่ดี รู้จักแบ่งปัน มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น รู้จักยอมรับนับถือตนเอง เข้าใจ ให้เกียรติ และยอมรับนับถือคนอื่น ไม่คิดทำร้ายคนอื่น ขณะเดียวกันก็ได้รับการยอมรับจากผู้อื่นด้วย และการได้รับการยอมรับและภูมิใจในตัวเองนี่แหละค่ะ จะจุดแสงแห่งความสุขเล็กๆ ในหัวใจดวงจิ๋วๆ ได้ เมื่อความสุข ลูกจะยิ่งมีกำลังใจและแรงจูงใจในการทำสิ่งต่างๆ ให้สำเร็จตามที่มุ่งหวัง อดทนต่ออุปสรรคต่างๆ และมีกระบวนการคิดแก้ปัญหาบนความขัดแย้งได้ดีอีกด้วยค่ะ

6 วิธีปลูก “จิตใจอ่อนโยน” ให้ลูกรัก

1. สร้างต้นแบบที่ดีในบ้านก่อน

เหมือนที่ย้ำกันอยู่ทุกครั้งค่ะว่า “ลูกไม้ย่อมหล่นไม่ไกลต้น” เด็กจะเติบโตไปเป็นคนเช่นไรขึ้นอยู่กับว่าเขาได้งอกงามอยู่ภายใต้สภาวะแวดล้อมแบบไหน ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่คือฟันเฟืองสำคัญของการเป็น Role Model ที่จะสร้างให้ลูกเป็นเด็กที่มีจิตใจอ่อนโยนจากการเลียนแบบไอดอล 2 คนแรกในชีวิตเขา การเป็นตัวอย่างที่ดีจึงมีค่ามากกว่าอะไรทั้งหมด เพราะฉะนั้น การทะเลาะเบาะแว้งด้วยอารมณ์ การตะคอก ทำลายข้าวของ รวมถึงการทำร้ายร่างกาย คือสิ่งที่ “ต้องไม่เกิดขึ้น” ในครอบครัว เพราะผ้าขาวผืนบางตัวน้อยๆ พร้อมจะซึมซับทุกๆ พฤติกรรมที่คุณพ่อและคุณแม่ปฏิบัติต่อกันแล้วกันค่ะ

2. ให้ลูกซึมซับความอ่อนโยน แต่ต้องไม่อ่อนแอ

สิ่งที่ลูกต้องการจากพ่อแม่มากที่สุดคือความรักความอบอุ่นค่ะ ซึ่งจะทำให้ลูกรับรู้ถึงความอ่อนโยนที่คุณพ่อคุณแม่มอบให้เขาได้เป็นอย่างดี และเราเชื่อว่าพ่อแม่ทุกคนรักลูกประหนึ่งแก้วตาดวงใจ แต่เขาต้องไม่ใช่แก้วใสที่เปราะบางค่ะ คุณพ่อคุณแม่ควรหล่อหลอมเขาให้เป็นแก้วที่ใส ไม่หม่นหมอง แต่ก็ต้องแข็งแกร่งด้วย ดังนั้น สิ่งที่ควรทำคือดูแลเอาใจใส่ลูกด้วยความรัก ความอบอุ่น และใช้เวลากับลูกให้มาก ซึ่งควรเป็นเวลาคุณภาพที่ทั้งครอบครัวได้ทำกิจกรรมที่สร้างสรรค์ร่วมกัน หรือคุณพ่อคุณแม่สนับสนุนให้ลูกได้ลองทำอะไรใหม่ๆ โดยไม่ถูกจำกัดการกระทำหรือปิดกั้นจินตนาการด้วย “ความห่วง” ที่ “มากเกินไป” ห้ามไปเสียทุกอย่าง จนทำให้ลูกเป็นเด็กที่ไม่กล้าคิด ไม่กล้าแสดงออก ไม่กล้าลงมือทำ และไม่กล้าตัดสินใจด้วยตัวเองนะคะ

3. ฝึกลูกให้รู้จัก เข้าใจ และจัดการอารมณ์ของตัวเองได้

โดยธรรมชาติและพัฒนาการแล้วเด็กเล็กๆ มักจะยังไม่สามารถบอกความรู้สึกของตัวเองออกมาได้ค่ะ มีเพียงเสียงหัวเราะและร้องไห้เท่านั้นที่เขาจะใช้สื่อสารกับพ่อแม่ได้ และลูกก็รับรู้เพียงว่าการหัวเราะคือสิ่งที่แสดงออกเมื่อเขามีความสุข ส่วนการร้องไห้จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อเขารู้สึกว่าไม่ได้ดั่งใจ หรือไม่ได้ในสิ่งที่ตัวเองต้องการ ฉะนั้นหน้าที่ของคุณพ่อคุณแม่คือ ฝึกให้ลูกรู้ว่ารู้และเข้าใจอารมณ์ของตัวเอง ว่าในขณะนั้น สถานการณ์นั้นเขากำลังรู้สึกอะไร โดยต้องรอให้อารมณ์ของลูกสงบลงก่อนแล้วเราค่อยคุยกับลูก คุยด้วยเหตุและผลนี่แหละค่ะ รับฟังสิ่งที่ลูกคิดหรือรู้สึก และลองตั้งคำถามปลายเปิดชวนให้เขาคิดว่าควรจัดการกับสิ่งที่ต้องการอย่างไร จะช่วยให้ลูกใจเย็นและรับมือการความรู้สึกของตัวเองได้ดีขึ้น และรู้เท่าทันอารมณ์ของตัวเองค่ะ

4. ฝึกลูกให้รู้จักเป็นผู้ให้ ก่อร่างสร้างจิตใจที่อ่อนโยน

ประสบการณ์ของการเป็น “ผู้ให้” คือสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ต้องสร้างให้ลูกค่ะ เริ่มง่ายๆ จากในบ้าน เช่น การแบ่งปันขนมให้คุณพ่อคุณแม่ การให้โดยการช่วยเหลือหยิบของ ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ต้องชวนเจ้าตัวเล็กพูดคุยให้ลูกเข้าใจว่าการแบ่งปันและความช่วยเหลือเล็กๆ น้อยๆ จากเขาช่วยแบ่งเบากำลังและสร้างความสุขให้คุณพ่อคุณแม่มากแค่ไหน เช่น “การให้แบบนี้ทำให้หนูเป็นเด็กดีมากเลยนะ” หรือ “มีหนูช่วย ทำให้แม่เหนื่อยน้อยลง แม่ภูมิใจในตัวหนูจังเลย” เป็นต้น ให้ลูกรู้ว่าการให้สร้างความสุขต่อทั้งผู้ให้และผู้รับ หรือในโอกาสพิเศษ… ลองชวนลูกทำกิจกรรมจิตอาสา หรือการแบ่งปันง่ายๆ ให้กับเพื่อนวัยเดียวกัน หรือกับสัตว์ต่างๆ จะช่วยให้เขารู้จักเห็นอกเห็นใจผู้อื่น รู้จักมีจิตเมตตาแบ่งปัน มีน้ำใจ สิ่งเหล่านี้จะช่วยขัดเกลาจิตใจลูกให้อ่อนโยนได้ค่ะ

5. สร้างความเข้าใจเรื่องสิทธิของตัวเอง และการเคารพสิทธิของผู้อื่น

สำหรับเด็กตัวเล็กๆ เราคงไม่ต้องลงลึกในรายละเอียดของคำว่า “สิทธิ” มากจนเกินไปหรอกค่ะ แต่ควรเริ่มต้นด้วยการให้เขา “ยอมรับในความแตกต่าง” ของคนในสังคม โดยอาจเปิดโอกาสให้ลูกได้แสดงความคิดเห็น ได้พูดถึงสิ่งที่เขาอยากทำ และให้เขาได้เลือกตัดสินใจด้วยตัวเอง ซึ่งเป็นการทำให้ลูกรู้ว่าพ่อแม่ยอมรับในตัวตนและความคิดของเขา ไม่ได้กะเกณฑ์ว่าลูกจะต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้ ช่วยให้ลูกเชื่อมั่นและเคารพในตัวเอง ส่งผลให้ลูกรู้จักเคารพผู้อื่นได้เช่นกัน

6. ลูกต้องเข้าใจว่าสิ่งรอบตัวล้วนมีคุณค่า

เด็กที่รู้จักคุณค่าของสิ่งรอบตัว จะเป็นเด็กที่เห็นถึงความสำคัญของคนอื่นและสิ่งอื่น รู้จักเห็นอกเห็นใจผู้อื่น มี Empathy มีความอ่อนโยน โดยการสอนให้ลูกเข้าใจเรื่องคุณค่านี้อาจเริ่มจากการไม่ให้เขาได้รับสิ่งที่ต้องการง่ายเกินไป เช่น การจะได้ของเล่นสักชิ้นหนึ่ง ควรมีการเล่นเกมสะสมหัวใจจากการทำความดี หรือทำสิ่งดี “วันนี้หนูกินข้าวเองได้ แม่ให้หัวใจ 1 ดวงจ้ะ” หรือ “หนูช่วยพ่อให้อาหารเจ้าเหมียว พ่อให้หัวใจอีก 1 ดวงนะ” เมื่อสะสมหัวใจได้ครบ 5 ดวง 10 ดวง ลูกจึงจะได้ของเล่นชิ้นนั้นๆ เป็นต้น การต้องใช้ความพยายามเพื่อให้ได้ของเล่นมานี้ จะทำให้ลูกรู้สึกถึงคุณค่าของมัน ส่งผลให้เมื่อเติบโตขึ้นเขาจะตระหนักและเรียนรู้ได้ว่าสิ่งต่างๆ รอบตัว รวมถึงคนอื่นๆ ในสังคมนั้นล้วนมีคุณค่าในตัวเองค่ะ

การที่ลูกน้อยจะเจริญเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่เปี่ยมด้วยหัวใจอันอ่อนโยน เป็นคนดี มีความสุข และมีชีวิตที่สมดุลได้นั้น สิ่งสำคัญคือ ก้าวแรกของการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นที่บ้าน ซึ่งขึ้นอยู่กับคุณพ่อคุณแม่ที่จะช่วยปลูกฝังและสร้างทักษะที่ดี ดังนั้น  อย่าละเลยการใช้เวลากับลูกในทุกกิจกรรม อย่าลืมหล่อหลอมให้เขาสร้างสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมรอบตัวด้วยความรักความเข้าใจที่ถูกต้องเหมาะสม เพื่อให้เขาได้เติบโตอย่างมีศักยภาพ มีร่างกายที่แข็งแรง ควบคู่กับจิตใจที่อ่อนโยน ดีงาม และแข็งแกร่ง พร้อมสำหรับการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมอย่างมีความสุขต่อไปนะคะ


🌐 babyswimmingthailand.com

✨มาร่วมมอบของขวัญล้ำค่าที่จะติดตัวลูกของคุณไปตลอดชีวิตกับ BABY SWIMMING โรงเรียนสอนว่ายน้ำเด็กแห่งเดียวในประเทศไทยที่ได้รับการรับรองมาตรฐานคุณภาพ ISO 9001 และได้รับความไว้วางใจจากโรงพยาบาลชั้นนำ 🇹🇭💯🏆🎉😊🙏🏻✨

✨”BABY SWIMMING, A Precious Gift for Your Kids” 🐳 🏊🏻 💦 💙 🎁 ✨

#babyswimming #สอนว่ายน้ำเด็ก #เรียนว่ายน้ำเด็ก #สระว่ายน้ำเด็ก #โรงเรียนสอนว่ายน้ำเด็ก #สระน้ำอุ่น #สระในร่ม

Share this